Earth as a System Science

หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science: ESS)

ทำไมต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

หลายท่านคงสงสัยว่า เพราะเหตุใดเราจึงต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ และมีความสำคัญอย่างไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งเป็นสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบใด ๆ ในธรรมชาติย่อมจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในขณะเดียวกัน ผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลจากกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ก็มีส่วนสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่น ๆ ในธรรมชาติได้อย่างมากมายและกว้างขวางทั้งในทางบวกและทางลบด้วยเช่นกัน การศึกษาว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างไร จะทำให้เราทราบและเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทั้งในทางบวกและทางลบอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นความรู้สำหรับนำไปใช้ประโยชน์และช่วยให้เราได้พิจารณาว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อรักษาความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบที่อาจจะตามมาในภายหลัง

วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (EARTH SYSTEM SCIENCE) คืออะไร

วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ (ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งมีชีวิตและ สิ่งปกคลุมดิน) เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ปรากฏการณ์ รวมทั้งแนวโน้มต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และมีผลต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา และทุกองค์ประกอบบนโลก

องค์ประกอบหลักของโลก

หากกล่าวถึงสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เราจะพบเห็นและสามารถบอกถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้มากมาย ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น พื้นดิน ภูเขา แร่ หิน กรวด แม่น้ำ ลำธาร บึง หนองน้ำ ต้นไม้ ต้นหญ้า พืชพรรณ ต่าง ๆ นก ผีเสื้อ มด แมลง วัว ควาย ปู ปลา รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ หรือแม้แต่ลม ซึ่งก็คืออากาศที่พัดเข้ามาสัมผัสกับร่างกายของเราสภาพแวดล้อมธรรมชาติต่างๆ มากมายที่อยู่รอบตัวเรานั้น สามารถจำแนกออกเป็นองค์ประกอบหลักได้ 4 กลุ่ม คือ

  1. ส่วนที่เป็นพื้นดินและหิน หรือธรณีภาค (Lithosphere) ซึ่งปรากฏเป็นลักษณะภูมิประเทศแบบ ต่าง ๆ

  2. ่วนที่เป็นพื้นน้ำ หรืออุทกภาค (Hydrosphere) ทั้งที่เป็นน้ำผิวดิน เช่น หนองน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ ทะเลสาบ มหาสมุทร รวมทั้งน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก และที่เป็นน้ำใต้ดิน

  3. ส่วนที่เป็นบรรยากาศ (Atmosphere) ประกอบด้วยแก๊ส ไอน้ำ รวมถึงอนุภาคต่าง ๆ ในอากาศ ห่อหุ้มโลกอยู่ สามารถแบ่งออกเป็นชั้นต่างๆ ได้หลายชั้น โดยชั้นที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต คือ บรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งปกคลุมอยู่ใกล้ผิวโลก ทั้งนี้ ชั้นบรรยากาศยังรวมถึงเมฆและหยาดน้ำฟ้า ได้แก่ ฝน หิมะ ลูกเห็บด้วย ทั้งนี้ ในดินและในน้ำก็มีอากาศอยู่ด้วยเช่นกัน แต่มีปริมาณน้อยกว่าในบรรยากาศมาก

  4. ส่วนที่เป็นชีวภาคหรือชีวมณฑล (Biosphere) เป็นบริเวณที่มีสภาพพื้นดิน/หิน น้ำ และบรรยากาศเหมาะสมต่อการเกิดและดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ โดยในแต่ละซีกโลกก็จะมีภูมิประเทศ ลักษณะทางอุทกวิทยา และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้ดินที่มีสมบัติต่างกันส่งผลให้พบสิ่งมีชีวิตที่มีความเฉพาะแตกต่างกันไป เกิดเป็นเขตสิ่งมีชีวิต (Biomes) ที่หลากหลาย เช่น ป่าฝนเขตร้อน ป่าผลัดใบเขตอบอุ่น ป่าสน ทะเลทราย ทุ่งหญ้าสะวันนา หรือเขตทุนดรา เป็นต้น ดังภาพ


ภาพแสดงองค์ประกอบหลักของโลก ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่เป็นพื้นดินและหิน ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ ส่วนที่เป็นบรรยากาศ และส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิต

หนังสือเรียนและคู่มือครูวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

หนังสือเรียนและคู่มือครูวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ พัฒนาขึ้นสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) และช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) โรงเรียนนำไปใช้สอดแทรกในรายวิชาหลัก หรือเปิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม หรือชมรมโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือจัดค่ายสิ่งแวดล้อม

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

นักเรียนจะได้เรียนรู้และสัมผัสกับแหล่งเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อันนำไปสู่การตั้งคำถามที่นักเรียนสนใจอยากรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งดิน น้ำ บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสำคัญในบริเวณนั้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งนักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบคำถามที่สงสัยในรูปแบบการทำงานวิจัย โดยมีครูคอยกระตุ้นและให้คำแนะนำนักเรียนในการทำกิจกรรม

เริ่มต้นด้วยการสังเกตธรรมชาติแวดล้อมในบริเวณหนึ่ง ๆ ตั้งคำถามวิจัย เพื่อนำไปสู่การวางแผนตรวจวัด โดย รวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สนใจอยากรู้ ศึกษาวิธีการตรวจวัด และเครื่องมือที่จะใช้ตรวจวัด เมื่อวางแผนงานวิจัยได้อย่างถูกต้อง รอบคอบ และรัดกุมแล้ว จึงเริ่มดำเนินการวิจัย เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ แปลผลความสัมพันธ์ สรุปและอภิปรายผล และนำเสนองานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนผลการศึกษาวิจัยกับผู้อื่น

คุณค่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

คุณค่าต่อนักเรียน

1. กิจกรรมวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบจะกระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อสืบเสาะหาความรู้ในสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นทั้งดิน น้ำ อากาศ สิ่งปกคลุมดิน และสิ่งมีชีวิตที่ตนเองสนใจ โดยเน้นการสำรวจ การสังเกต การตั้งคำถามวิจัย การสืบค้นข้อมูล การตรวจวัด การวิเคราะห์ การอภิปราย และสรุปผล เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบหลักของโลก (ดิน น้ำ อากาศ สิ่งปกคลุมดินและสิ่งมีชีวิต) และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยแบบนักวิทยาศาสตร์

2. นักเรียนจะได้พัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์และการคิดเป็นระบบอย่างเป็น องค์รวม การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีจิตวิทยาศาสตร์ เจตคติ คุณธรรม ค่านิยม และความตระหนักที่ถูกต้องเหมาะสม

คุณค่าต่อครู/โรงเรียน

ครูผู้สอนและโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกๆ ด้านของนักเรียน โดยสามารถนำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมการเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติในโรงเรียนและในท้องถิ่นได้หลายรูปแบบ เช่น จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม (รายปี) กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ หรือนำเนื้อหาบางส่วนบูรณาการเข้าไปกับวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) และช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3)

คุณค่าต่อโรงเรียน

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ส่งเสริมให้ชุมชนและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจปัญหาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนและโลกของเรารวมถึงรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งขององค์ประกอบสำคัญของโลกที่จะต้องร่วมมือป้องกันอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนและของโลกให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

คำอธิบายรายวิชา สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (รายวิชาเพิ่มเติม)

รายวิชา วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

ช่วงชั้นที่ 2 และ 3

เวลา 65-80 ชั่วโมง

ศึกษา วิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งปกคลุมดิน และสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ปรากฏการณ์ รวมทั้งแนวโน้มต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และมีผลต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้ ได้แก่ การสังเกต การตั้งคำถามวิจัย การตั้งสมมติฐาน การวางแผนงานวิจัย และการเขียนเค้าโครงวิจัย การดำเนินการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การลงข้อสรุป การเขียนรายงานการวิจัย และการนำเสนองานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยแบบนักวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์และการคิดเป็นระบบ มีความสามารถในการตัดสินใจ สามารถสื่อสาร ทำงานร่วมกันเป็นทีม และนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีจิตวิทยาศาสตร์ จริยธรรม คุณธรรมและค่านิยมที่เหมาะสม

จำนวนผู้เข้าชม